วอยเอจเจอร์ 1 (อังกฤษ: Voyager 1) เป็นยานสำรวจอวกาศที่นาซา องค์การสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกา ปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1977 เพื่อศึกษาระบบสุริยะชั้นนอก ปัจจุบัน ยานสื่อสารกับเครือข่ายอวกาศห้วงลึก (Deep Space Network) เพื่อรับคำสั่งประจำและส่งข้อมูลกลับ เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2013 ยานอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ราว 125 หน่วยดาราศาสตร์ จึงเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุด
ภารกิจหลักสิ้นสุดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1980 หลังพบระบบดาวพฤหัสบดีใน ค.ศ. 1979 และระบบดาวเสาร์ใน ค.ศ. 1980 มันเป็นยานสำรวจลำแรกที่ให้ภาพละเอียดของดาวเคราะห์ทั้งสอง ตลอดจนดาวบริวาร วอยเอจเจอร์ 1 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวอยเอจเจอร์ ขณะนี้อยู่ในภารกิจขยาย โดยได้รับคำสั่งให้หาและศึกษาพรมแดนของระบบสุริยะ รวมถึงแถบไคเปอร์และเฮลิโอสเฟียร์รอบนอก และที่สุดเริ่มสำรวจสารระหว่างดาว เช่นเดียวกับยานน้อง วอยเอจเจอร์ 2
วันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 2013 นาซาประกาศว่า วอยเอจเจอร์ 1 ได้ข้ามเฮลิโอพอสและเข้าสู่อวกาศระหว่างดาวเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2012 ทำให้มันเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นชิ้นแรกที่ออกนอกระบบสุริยะ ใน ค.ศ. 2013 ยานสำรวจกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสัมพัทธ์กับดวงอาทิตย์ 17 กิโลเมตรต่อวินาที ปริมาณพลังงานที่ยานสำรวจเหลืออยู่ลดลงตามเวลา และเครื่องมือทุกชิ้นจะหมดพลังงานเมื่อถึง ค.ศ. 2025
ยานวอยเอจเจอร์แต่ละลำบรรทุกแผ่นจานทองคำซึ่งอัดเสียงและภาพของเหตุการณ์ต่างๆ บนโลก ในกรณีที่ยานทั้งสองมีโอกาสพบกับสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาอื่นในระบบดาวเคราะห์แห่งอื่น เนื้อหาในแผ่นจานประกอบด้วยภาพของโลก สิ่งมีชีวิตบนโลก ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา คำพูดทักทายจากผู้คน (เช่น จากเลขาธิการสหประชาชาติ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเด็ก ๆ บนโลก รวมถึงภาษาไทย โดยภาษาไทยมีการบันทึกไว้ว่า "สวัสดีค่ะ สหายในธรณีโพ้น พวกเราในธรณีนี้ขอส่งมิตรจิตมา?ถึงท่านทุกคน") รวมถึงชุดเมดเล่ย์ "เสียงจากโลก" ที่ประกอบด้วยเสียงของวาฬ เสียงเด็กร้อง เสียงคลื่นกระทบฝั่ง และบทเพลงของนักดนตรีมากมาย